แนวปฏิบัติที่ดี เรื่อง การพัฒนาระบบรับสมัครนักศึกษาออนไลน์
เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษา
หลักการและเหตุผล
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2547:11-17) ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อการศึกษาไว้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและรวดเร็วที่สุดในยุคนี้ คือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเข้ามาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกเกือบทุกอย่างและที่สำคัญคือ การสื่อสาร (Communication) ซึ่งการบริหารในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง การบริหารจัดการและการตัดสินใจที่ดีคือการตัดสินใจอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องเป็นปัจจุบันและเพียงพอซึ่งจะถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดน้อยที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการตัดสินใจในการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ของระบบสื่อสาร (Communication System) เพื่อให้ได้มาซึ่ง Information มากมายและมีประสิทธิภาพสูง กระบวนการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศและการนำไปใช้ โดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ( Information and Communications Technology : ICT ) ดังนั้น คนในยุดใหม่ที่จะอยู่ในสังคมโลกเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอในด้าน ICT
เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษา เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสังคมแห่งภูมิปัญญา (Knowledge-Based Economy) จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วทั้งสังคม โดยอาศัยการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ประกอบกับภาครัฐจะต้องดำเนินการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการสร้างชาติที่มีวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรู้เท่าทันและมีธรรมาภิบาล
การพัฒนาโปรแกรมรับสมัครผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเตสกลนคร เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่บุคลากรตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นในรูปแบบเว็บแอพพลิเคชั่น (Web Application) เพื่อสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัยในการคัดเลือกนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ บุคลากรตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ต้องพัฒนาโปรแกรมรับสมัครผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา โดยการใช้เทคนิคขั้นสูงในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Requirement Analysis) ออกแบบตัวต้นแบบ (Prototype Design) วิเคราะห์และออกแบบฐานข้อมูล (Database Analysis and Design) วิเคราะห์และออกแบบส่วนนำเข้า (Input) ส่วนประมวลผล (Process) ส่วนแสดงผล (Output) และส่วนการตอบกลับผู้ใช้งาน (Feedback) เพื่อให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานของทุกกลุ่มผู้ใช้งาน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาโปรแกรมรับสมัครผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเตสกลนคร ที่ใช้ได้กับทุกหน่วยงาน เพิ่มช่องทางการรับสมัครและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น
2. เพื่อจัดทำคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงาน การพัฒนาโปรแกรมรับสมัครผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเตสกลนคร ช่วยให้การปฏิบัติงานในปัจจุบันของบุคลากร ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับ
3. เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพตามที่กำหนด บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สามารถทำงานแทนกันได้ สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วเมื่อมีการโยกย้ายตำแหน่งงานหรือบุคคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถปฏิบัติงานได้
กระบวนการจัดการความรู้
- ศึกษากฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานรับสมัครนักศึกษาในปัจจุบัน เพื่อให้ทราบวิธีการ ขั้นตอน ระเบียบ กฎหมาย บริบทองค์กร ปัญหาที่พบในการดำเนินงานที่ต้องการแก้ไข หรือประเด็นความต้องการที่จะพัฒนาระบบงานให้เป็นระบบซอฟต์แวร์
- สืบค้นองค์ความรู้ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาซอฟต์แวร์
- กำหนดประเด็นความต้องการโปรแกรม การดำเนินงานในขั้นตอนใดของการรับสมัครนักศึกษาใหม่ที่สามารถพัฒนาให้เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
- ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดของโปรแกรม (TOR) ของผู้ใช้งาน
- พัฒนาตัวต้นแบบโปรแกรม และทำการประเมินการยอมรับตัวต้นแบบโปรแกรม
- พัฒนาระบบและทดสอบฟังก์ชันการทำงานโดยผู้พัฒนาโปรแกรมและผู้เชี่ยวชาญ
- ทดสอบการใช้งาน และประเมินการยอมรับโปรแกรมโดยผู้งาน
- ติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์
- จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานการพัฒนาโปรแกรมรับสมัครผ่านเว็บไซต์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา เพื่อเป็นคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน
คณะทำงาน (KM) :
- นายรวี ภูบุญมี
- นายอภิชาต ราชคำ
- นายวินัย ไตรพิมพ์
- นายชัยวัฒน์ หมั่นจิตร