มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จัดทำโครงการ “คลังเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มเกษตรกรตำบลแวง จังหวัดสกลนคร” ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ไม่ได้คุณภาพ ลดการใช้สารเคมีในชุมชน
อาจารย์ปริญญา กิตติสุทธิ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปลูกต้นมะเขือเทศ บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ โดยมีบริษัทเอกชนให้การสนับสนุนในการปลูกและเข้ามารับซื้อผลผลิตดังกล่าวถึงในชุมชน
ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องหาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อนำมาเพาะปลูก และการซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จำเป็นจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจะเป็นผู้จัดหามาจำหน่ายให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตตรงตามสายพันธุ์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนามาได้ จึงมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ อีกทั้งเกษตรกรยังต้องซื้อปุ๋ยและยาจากบริษัทผู้ผลิตทั้งหมด อีกทั้งต้องใช้ในปริมาณที่มากเพื่อให้พืชสามารถให้ผลผลิตตามต้องการ เกษตรกรยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มคือค่าปุ๋ยและยา ทำให้เกษตรกรต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสารเคมีที่ใช้ในระยะการปลูกมะเขือเทศ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันยังส่งผลให้ปริมาณผลผลิตต่ำลงอีกด้วย
จากปัญหาดังกล่าวทำให้นักศึกษากลุ่ม SKC Team เกิดแนวคิดที่จะรวบรวมเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่สามารถเก็บไว้เพาะปลูกได้ทุกปีเพื่อลดต้นทุนการผลิตในการซื้อเมล็ดพันธุ์จากภาคเอกชน จึงได้ถือกำเนิดโครงการ “คลังเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มเกษตรกรตำบลแวง จังหวัดสกลนคร” และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาเกษตรกรรม จากโครงการกระทิงแดง ยู-โปรเจค ปี 2 จัดโดยบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด อีกทั้งนักศึกษายังได้ฝึกฝนการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
โดยกิจกรรมในโครงการจะประกอบด้วย 7 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมหาแนวร่วม เป็นกิจกรรมการแนะนำตัวของกลุ่มนักศึกษาที่จะลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้าน 2. การจัดเวทีเสวนา เป็นการนำเสนอบริบทการทำการเกษตรวิถีชาวบ้าน 3. แสดงการเก็บผลผลิต/เมล็ดพันธุ์ นำเสนอการใช้งานเครื่องแยกเมล็ดพันธุ์ และรูปแบบการเก็บรักษาให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยนักศึกษากลุ่ม SKC Team 4. ตลาดนัดเมล็ดพันธุ์ คือการจัดตลาดนัดเพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรมาวางจำหน่ายและแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตร 5. การสร้างกลุ่มเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการผ่าน Social Network กลุ่ม SKC Team จะต่อยอดกิจกรรมให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรและปลูกพืชจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน 7. การสรุปการดำเนินโครงการ จะทำการสรุปผลกิจกรรมตามดัชนีที่กำหนด
ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9580000057376